1. กรรมวิธีเตรียมหนังก่อนฟอก
การเตรียมหนังก่อนฟอก เป็นการกําจัดส่วนที่ไม่ต้องการ เช่น ขน เศษหนัง กีบเท้า ฯลฯ ออกจากหนังดิบและเตรียมหนังให้พร้อมที่จะฟอก มีการดองเกลือ การแช่น้ำปูนขาวเพื่อกำจัดขนออกด้วยโซเดียมซัลไฟด์ ขูดพังผืด แล่หนัง ล้างน้ำปูน และบ่มหนัง ทั้งนี้ เมื่อผ่าแยกชิ้นแล้ว ส่วนบนเรียกหนัง “upper” หรือ “grain” เอาไปผลิตหนังฟอก ส่วนล่างเรียกว่าหนัง “ส่วนล่าง” หรือ “splits” เมื่อผ่านการฟอกในขั้นนี้แล้วนั้นสามารถที่จะขายสินค้าได้ หรือที่เราเรียกว่า หนังเขียว (Wet Blue)
2. การฟอกหนัง
ภายหลังจากที่ได้ทําความสะอาดผ่านหนังดิบให้มีขนาดตามต้องการแล้ว จะนําหนังไปผ่านการฟอก เพื่อเปลี่ยนสภาพของโปรตีนในหนังดิบให้มีความทนทานต่อสภาพอากาศและน้ำร้อน ทั้งนี้ เป็นการรักษาสภาพหนังไม่ให้เน่าเปื่อยและมีความนิ่มยืดหยุ่นเหมาะกับการนำไปใช้งาน การฟอกหนังมี 2 วิธี
2.1 การฟอกโครม
เป็นการฟอกที่ทําในถังปั่น ซึ่งจะใช้สารเคมีพวกเบสิก โครเมียม (Cr3+) เป็นตัวฟอก โดยทั่วไปแล้ว ประมาณร้อยละ 70 ของโครเมียมที่เติมลงไปจะทําปฏิกิริยากับหนัง ที่เหลืออีกร้อยละ 30 จะถูกปล่อยทิ้งไปกับน้ำเสีย การตรึงโครมให้อยู่กับหนังสามารถเพิ่มขึ้นได้ด้วย การปรับ pH ดังนั้น ระหว่างการฟอกโครมจึงต้องมีการเติมโซเดียมคาร์บอเนตลงไปทีละน้อยช้าๆ ค่า pH ของหนังควรอยู่ที่ 4.0 -4.4 หนังที่ผ่านการฟอกโครมแล้ว เรียกว่า Wet-Blue
2.2 การฟอกฝาด
ปัจจุบันจะฟอกในถังปั่นเพื่อเพิ่มความเร็วในการซึมของสารฟอก โดยจะใช้แทนนินซึ่งสกัดจากเปลือกไม้พวกยูคาลิปตัส ต้นควีบราโค และอื่นๆ มาเป็นสารฟอก ทั้งนี้ น้ำฟอกที่ใช้แล้วสามารถนํามาใช้ซ้ำได้อีก ขั้นตอนที่สําคัญคือการล้างฝาดส่วนเกิน โดยใช้กรดอ็อกซาลิคล้างฝาดออกจากหนังซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพหนังอย่างมาก หนังสําเร็จรูปที่เกิดจากการฟอกฝาดจะมีน้ำหนักมากกว่าการฟอกโครม มักใช้เป็นพื้นรองเท้า เข็มขัด และมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าการฟอกโครม หลังจากการฟอกแล้ว หนังจะถูกรีดน้ำทําให้แห้ง เจียรผิวด้วยเครื่องตัดแต่ง และคัดเลือกเพื่อเก็บไว้รอจําหน่ายหรือแปรรูปต่อไป
3. การฟอกซ้ำ ย้อมสี ให้น้ำมัน
การฟอกซ้ำมักทํากับหนังที่ได้มาจากฟอกโครม โดยทําขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพหนังให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ในการนี้ สารเคมีที่ใช้อาจเป็นโครเมียม แทนนิน หรือซินแทน(ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ขึ้น) ก็ได้ การย้อมสีจะทําตามที่ตลาดต้องการ หรืออาจไม่ย้อมสีก็ได้ ขั้นตอนของการย้อมสีแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของสีที่ใช้ย้อม ปกติจะใช้กรดฟอร์มิกปรับสภาพ ก่อนการย้อมด้วยสี และการตรึงให้สีติดหนังซึ่งต้องอาศัยอุณหภูมิสูงมักใช้ไอน้ำมาทําให้หนังย้อมร้อนขึ้น หนังที่จะนำไปใช้งานจําเป็นต้องมีความอ่อนนุ่มอยู่ตัว ดังนั้น จําเป็นต้องมีการทําน้ำมันให้แก่หนังที่ฟอกแล้ว การทําน้ำมันอาจทําพร้อมการฟอกซ้ำหรือการย้อมสี หรืออาศัยการทาต่างหากก็ได้ หนังที่ผ่านขั้นตอนนี้แล้วจะนําไปผ่านการพ่นสี พิมพ์ลายและอื่นๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่อไป